โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (อังกฤษ: Bangkok Christian College ย่อ: ก.ท, BCC) (จีน: 曼谷基督教学院) (ญี่ปุ่น: バンコク クリスチャン カレッジ)
เป็นโรงเรียนเอกชนชายล้วนขนาดใหญ่ ได้รับกาสถาปนาขึ้นโดยคณะคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2395 เป็นโรงเรียนแห่งแรกในเครือสภาคริสตจักรในประเทศไทยซึ่งประกอบด้วย 28 โรงเรียน กับ 2 มหาวิทยาลัย[1] ปัจจุบันโรงเรียนมีอายุ 164 ปี เป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย เป็นโรงเรียนโปรแตสแตนท์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ และเป็นโรงเรียนเพียงแห่งเดียวในปัจจุบันที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยตั้งอยู่ เลขที่ 35 ถนนประมวญ แขวงสีลม เขตบางรักกรุงเทพมหานคร[2] โรงเรียนมีศิษย์เก่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคน ทั้งองคมนตรี 4 คน นายกรัฐมนตรีไทย 2 คน รัฐมนตรีหลายกระทรวง นักร้อง นักแสดง ผู้จัดรายการหลายคน
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเป็นโรงเรียนในเครือจตุรมิตร ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
- ค.ศ. 1852 คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน (American Presbyterian) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระบรมราชานุญาตให้คณะมิชชันซื้อที่ดิน 2 แปลงคือที่ตำบลกุฎีจีน หลังวัดแจ้ง และตำบลสำเหร่ และได้ตั้งโรงเรียนเป็นแห่งแรก ณ ตำบลกุฎีจีน โดยจ้างเด็กมาเรียนวันละเฟื้อง (12 สตางค์) มีซินแสกีเอ็ง ก๊วยเซียนเป็นผู้สอน ในตอนนั้นมีเยาวชนจีนเพียง 8 คนเท่านั้นที่สมัครเป็นนักเรียน
- ค.ศ. 1856 มีนักเรียนไทยกลุ่มแรกเข้ามาสมัครเป็นนักเรียนที่นี่ ต่อไปนี้เป็นชื่อนักเรียนเท่าที่มีบันทึกเอาไว้
- นร. เลขประจำตัว 1 พระยาอุตรกิจฯ
- นร. เลขประจำตัว 2 หลวงวิจิตรฯ
- นร. เลขประจำตัว 8 หลวงขบวนฯ
- นร. เลขประจำตัว 29 ครูยวญ เตียงหยก
- นร. เลขประจำตัว 31 นายเทียนสู่ กีระนันทน์
- ค.ศ. 1862 คณะอเมริกันมิชชันนารี เล็งเห็นว่ากิจการด้านการศึกษาก้าวไกลไปข้างหน้าด้วยดี จึงย้ายโรงเรียนจากเดิมที่ตำบลวัดแจ้งมาเปิดที่ตำบลสำเหร่ ซึ่งอยู่ทางใต้ลงมาและมอบให้ศาสนทูต เอล แมตตูน เป็นผู้อำนวยการ ปรากฏว่าผลงานเป็นที่พอใจ อนึ่งในระยะเวลานั้นทางรัฐบาลไทยได้เปิดโรงเรียนของรัฐบาลแห่งหนึ่งที่ตำบลสวนอนันต์ ได้เชิญท่าน เอส.จี.แมคฟาแลนด์ หรือคุณพระอาจวิทยาคมเป็นผู้อำนวยการ โดยมีวัตถุประสงค์หรือนโยบายเพียงให้การศึกษาเฉพาะบุคคลชั้นเจ้านาย ลูกท่านหลานเธอและบุตรข้าราชการผู้ใหญ่ในราชสำนักเท่านั้น ท่านผู้อำนวยการเห็นว่าภารกิจที่ได้รับมอบหมายนั้น ลำพังท่านเพียงผู้เดียวนั้นยากที่จะดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายได้ ดังนั้นท่านจึงได้ออกปากชวน ท่านอาจารย์จอห์น.เอ.เอกิ้น เข้ามาร่วมงานอีกท่านหนึ่ง และแล้วกิจการของโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกก็ได้ก้าวหน้าไปด้วยดี
- ค.ศ. 1888 เมื่อท่านอาจารย์จอห์น.เอ.เอกิ้นได้เข้าร่วมงานกับท่านอาจารย์เอส.จี.แมคฟาแลนด์ได้ระยะหนึ่งและเมื่อพ้นพันธะใดๆแล้ว ท่านก็ลาออกจากตำแหน่งครูรัฐบาลแต่ด้วยใจรักการศึกษา ท่านก็ได้จัดตั้งโรงเรียนส่วนตัวขึ้น ณ ตำบลวัดกระดี่จีน (กุฏีจีน) ชื่อว่าโรงเรียนบางกอกคริสเตียนไฮสกูล (B.C.H.) และได้เชิญอาจารย์และแหม่มเจ.บี.ดันแลป พร้อมด้วยน้องสาวของท่าน เข้าร่วมงาน
และในปีเดียวกันนั้นเอง อาจารย์จอห์น.เอ.เอกิ้น และคณะทั้งสามของท่านได้สมัครเข้าสังกัดของคณะเพรสไบธิเรียนแล้ว และในเวลาเดียวกันท่านศาสนทูตเอส.อาร์เฮ้าส์ ท่านศาสนทูตเจ.เอม.คัลเบริ์ทซัน ท่านศาสนทูตเอน.เจ.แมคโดนัล และท่านศาสนทูต เจ.แวนได๊ก์ ได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดของท่าน ณ สหรัฐอเมริกา ทำให้ทางฝ่ายมิชชันในกรุงเทพฯ ขาดผู้บริหารด้านการศึกษาไปที่ประชุมจึงได้มีมติให้อาจารย์เจ.เอ.เอกิ้น เป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะบริหารงานด้านการศึกษาของมิชชันต่อไป ดังนั้นท่านต้องแบกภารกิจเป็น 2 เท่าคือทั้งงานส่วนตัวที่"บางกอกคริสเตียนไฮสกูล"ที่กุฎีจีน และโรงเรียนของคณะมิชชันที่สำเหร่
- ค.ศ. 1892 ท่านอาจารย์จอห์น.เอ.เอกิ้น เห็นว่าการที่ต้องบริหารงานเป็นสองฝักสองฝั่งเช่นนี้ย่อมสิ้นเปลืองแรงงาน และไม่ประสบความสำเร็จในที่สุด ท่านจึงตัดสินใจยกเลิกกิจการที่กุฎีจีนเสีย และมุ่งหน้าปรับปรุงกิจการส่วนรวมของหมู่คณะ คือดำเนินการบริหารที่สำเหร่แต่เพียงด้านเดียวท่านได้แสดงถึงความเสียสละ อย่างยิ่ง โดยทุ่มเททุนส่วนตัวของท่านที่สะสมไว้เพื่อ "บากกอกคริสเตียนไฮสกูล" ที่กุฎีจีนทั้งหมด เพื่อสร้างงานใหม่ที่ตำบลสำเหร่ โดยได้สร้างอาคารใหม่ใช้เป็นสถานศึกษาสำหรับนักเรียนชาย ขนานามใหม่ว่า "สำเหร่ บอยสกูล"
- ค.ศ. 1900 ทางคณะมิชชันนารีเล็งเห็นว่า หากจะขยายการศึกษาให้กว้างไกลออกไปแล้ว ที่ดินตรงตำบลสำเหร่ไม่เหมาะสม จึงมุ่งหมายไปยังที่ดินแปลงใหม่ ณ ฝั่งชายแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นฝั่งกรุงเทพฯ ปัจจุบันและในที่สุดก็ได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งที่บริเวณ ถนนประมวญ ตำบลสีลม อำเภอบางรัก และสร้างสถาบันการศึกษาขึ้นใหม่เรียกนามว่า "กรุงเทพคริสเตียนไฮสกูล" เปิดทำการสอนเป็นปฐมฤกษ์เมื่อ
- ค.ศ. 1913 กรุงเทพคริสเตียนไฮสกูล รุ่งโรจน์เรื่อยมาเป็นลำดับ กิจการงานศึกษาแผ่กว้างยิ่งขึ้น มติจากบอร์ดนอก จึงได้สั่งให้เปลี่ยนจากไฮสกูล เป็นคอลเล็จ (COLLEGE) ดังนั้นเองนามของสถาบันการศึกษาแห่งนี้จึงได้เปลี่ยนเป็น "กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย" เรียกชื่อและเขียนตามอักษรโรมันว่า BANGKOK CHRISTIAN COLLEGE มักเรียกย่อๆว่า BCC
- ค.ศ. 1920 กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยได้รับเกียรติรับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย สังกัดสำนักงานพันธกิจการศึกษามูลนิธิสภาคริสตจักรในประเทศไทย บนเนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา ประกอบไปด้วยหอธรรม อาคารอารีย์ เสมประสาท อาคาร เอ็ม .บี. ปาล์มเมอร์ อาคารสิรินาถ อาคารบีซีซี 150 ปี สระว่ายน้ำ สนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล เปิดการเรียนการสอน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และอาคารจอห์น เอ เอกิ้น ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 16 ชั้นและชั้นใต้ดิน 4 ชั้น ชั้น 12 เป็นหอประวัติศาสตร์โรงเรียน
อ้างอิง